วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2551

ประชุมใหญ่สามัญประจำปีสมาคมห้องสมุด

สรุปการประชุม
รายละเอียดในการอบรม/ประชุม/สัมมนา
ปาฐกถาพิเศษ โดย ศาตราจารย์ ดร. วิจิตร ศรีสะอ้าน เรื่อง การอยู่ร่วมกันในสภาพที่แตกต่างของสังคม เนื้อหาโดยสรุป คือ ทุกคนต้องอยู่ร่วมกันโดยช่วยเหลือกัน ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
การอภิปรายเรื่อง สารสนเทศเพื่อความอยู่รอด : ใครใช้ ใครจัด ใครได้ โดย รศ. สุขุม นวลสกุล นางศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ ครูสังคม ทองมี ทนายวันชัย สอนศิริ ดำเนินการอภิปรายโดย รศ. ดร. สุขุม เฉลยทรัพย์ โดย รศ. สุขุม นวลสกุล กล่าวถึงสารสนเทศกับการเมือง สารสนเทศมีผลต่อการตัดสินใจทางการเมือง ส่วนใหญ่ได้มาจาก primary source บรรณารักษ์เป็นผู้ให้บริการต้องนำเสนอถึงตัว ไม่รอให้ผู้ใช้เดินทางมาห้องสมุด เพราะสารสนเทศเดี๋ยวนี้เข้าถึงได้ง่าย ส่วน ทนายวันชัย กล่าวถึงสารสนเทศกับกฎหมาย เป็นการนำข้อมูลสารสนเทศที่มีอยู่มาตีความตามกฎหมาย ว่า ยุติธรรม หรือ ชอบธรรม ยุติธรรม จะเป็นการยุติเรื่องตามสารสนเทศที่มีอยู่ แต่ชอบธรรมหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเป็นไปตามหลักคุณธรรมจริยธรรมหรือไม่
ครูสังคม ทองมี กล่าวถึงสารสนเทศกับการศึกษาและศิลปะ ต้องใช้หนังสือเป็นหลัก ส่วนนางศิริบูรณ์ กล่าวถึงสารสนเทศกับสื่อมวลชน ที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นอาวุธ ดังนั้นจึงควรคิดให้มาก ไตร่ตรอง หาข้อเท็จจริง ก่อนตัดสินใจ เพราะใครมีสื่อในมือ มีข้อมูลมาก คนนั้นชนะ
การอภิปรายเรื่อง แนวคิดที่แตกต่างช่วยเสริมสร้างสังคมความรู้ให้เข้มแข็ง โดย ศาสตราจารย์ไพฑูรย์ สินลารัตน์ นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ นายนิเวศน์ กันไทยราษฎร์ ดำเนินการอภิปราย โดย ดร. พรรณี สวนเพลง สรุปว่า แนวคิดของสารสนเทศในไทยเปลี่ยนแปลงไปจากสังคมเกษตรกรรมสู่สังคมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมเปลี่ยนไปจากสังคมบริโภคนิยมเป็นสังคมฐานความรู้ มีการสร้างสังคมเศรษฐกิจบนฐานความรู้ โดยการเรียนรู้ สร้างความรู้ ใช้ความรู้ สร้างผลผลิต มีประสิทธิภาพ/คุณภาพ แข่งขันได้ มีพื้นฐานแนวคิดไทย เน้นชีวิตจริง การคิด กระบวนการ และความเปลี่ยนแปลง ผู้ให้บริการจะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส เช่น ผู้ใช้บริการส่งเสียงดัง ก็ให้อ่านบทร้อยกรองแทนการลงโทษ และต้องให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในทางที่ถูกต้องด้วย เพราะเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นดาบสองคม
การนำเสนอผลงานวิจัยด้านสารสนเทศ ในแง่ของสารสนเทศด้านพระพุทธศาสนา การให้บริการสารสนเทศแก่ผู้ใช้ที่บกพร่องทางการเรียนรู้
การประชุมระดมความคิดเรื่อง การพัฒนาแนวทางสร้างสังคมความรู้ที่ยั่งยืนในสภาพที่แตกต่าง โดยกลุ่มห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาและอาชีวศึกษา ได้นำเสนอถึงการให้บริการสารสนเทศในสถาบันการศึกษา เน้นการเข้าถึงและให้บริการสารสารสนเทศที่ใช้เทคโนโลยี ส่วนห้องสมุดอาชีวศึกษา จะมีปัญหาเรื่องบุคลากรที่มีจำนวนจำกัด และผู้ใช้ที่มีความต้องการสารสนเทศด้านอาชีพ จึงควรสร้างความร่วมมือหรือเครือข่าย มีการสรุปการทำงานเพื่อขอบุคลากรที่มีความรู้บรรณารักษศาสตร์เพิ่ม ปีนี้ บรรณารักษ์ของอาชีวศึกษามาเข้าร่วมประชุมเพียง 4 คน เพราะไม่ได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา ทำให้มีปัญหาในการประชุมชมรมห้องสมุดเพื่อการอาชีวศึกษาและเทคโนโลยี
สรุปผลการดำเนินงานของสมาคม ที่ประชุมมีมติให้สมาคมดำเนินงานเฉพาะกิจกรรมทางวิชาการ งดขายสินค้า นอกจากให้บริการด้านออกแบบห้องสมุด